ถ้าพูดถึงสัตว์ในจินตนาการที่อยู่ในวรรณคดีไทย ที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่นับถือและบูชาของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และยังมีภาพจิตกรรมที่อยู่ตามวัดในพระอุโบสถ พระวิหาร ประติมากรรมตามสถานที่สำคัญอย่างมากมาย จะไม่ให้นึกถึงพาหนะของพระอินทร์ หรือช้างเอราวัณไม่ได้เลย ในประเทศไทยของเราที่เป็นเมืองพุทธที่มีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายก็มีประติมากรรมขนาดใหญ่อย่างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียรเช่นกัน เรามาทำความรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างมาจากความเชื่อและเป็นที่ ที่น่าสนใจกันเลยดีกว่า
ประวัติพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ หรือพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร เป็นประติมากรรมลอยตัวรูปช้าง 3 เศียร ซึ่งในทางวรรณคดีไทยเอราวัณซึ่งมีเศียรทั้งหมด 33 เศียร แต่เนื่องจากปัญหาขนาดและโครงสร้างที่ซับซ้อนจึงลดมาเหลือเพียง 3 เศียร เป็นประติมากรรมลอยตัวช้างทองแดงที่ถูกสร้างขึ้นโดยด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกและแห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีความสูงจากเศียรช้างลงมาสู่ฐานวัดได้ 43.6 เมตร หรือประมาณความสูงของตึก 14-17 ชั้น
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณแห่งนี้สร้างขึ้นจากความคิดและจินตนาการของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ นักธุรกิจเจ้าของบริษัทวิริยะประกันภัย ด้วยต้องการจะรักษาของโบราณที่ท่านสะสมให้เป็นมรดกของแผ่นดินไทย เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นศิลปกรรมและรูปเคารพที่ ศักดิ์สิทธิ์ของคนโบราณอีกด้วย เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิริมงคล และความอุดมสมบูรณ์แก่บ้านเมืองและแผ่นดิน
เหตุผลที่สร้างเป็นรูปช้างเอราวัณ เพราะช้างเอราวัณเป็นช้างบนสวรรค์ มีสามสิบสามเศียร ความต้องการแรกไม่ได้อยากให้ช้างเอราวัณเป็นเพียงพาหนะของพระอินทร์ ผู้เป็นเทพเจ้า หากต้องการให้จินตนาการเป็น ช้างจักรวาลที่มีอิสระในลักษณะที่สร้างให้เป็นอาคารศักดิ์สิทธิ์ ที่บรรจุรูปเคารพและสิ่งของที่เป็นสวัสดิมงคลของบ้านเมือง
คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ได้ออกแบบและมอบหมายให้ คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ บุตรชายคนโต หาช่างมาดำเนินการสร้าง เมื่ออาคารช้างสามเศียรเป็นรูปร่างขึ้นมา ก็ทำให้มีผู้คนมากราบไหว้บูชา จนกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ปัจจุบันได้จัดตั้งให้เป็นทั้งสถานที่จัดงานประเพณีทางวัฒนธรรมที่ดีรวมถึงรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ไว้ให้เป็นมรดกของแผ่นดินไทย
จึงได้สร้างตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุที่มีค่าเหล่าไว้เพื่อความปลอดภัยและเพื่อความเหมาะสมถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสมุทรปราการ
คติเกี่ยวกับช้างเอราวัณ
ในภาษาสันสกฤต เรียกช้างเอราวัณพาหนะของพระอินทร์ว่า ไอราวาต ไอราวณ ภาษาบาลี เรียกช้างเอราวัณว่า เอราวณ ส่วนในภาษาไทยเรียกข้างเอราวัณว่า ไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และเอราวัณ ชื่อทั้งหมดนี้เป็นชื่อเรียกช้างและยัง มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน แปลรวมว่ากลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ สามารถทำให้เกิดการฝนตก โดยมีความสอดคล้องกับตำนานที่ว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์ แล้วทรงโปรยฝนให้ตกลงมายังโลก ชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะบูชาพญาแถนซึ่งพญาแถนของคนไทยก็คือพระอินทร์นั่นเอง
บางตำนานก็ว่าพระอิศวรหรือพระศิวะได้ประทานช้างเอราวัณให้เป็นช้างทรงหรือพาหนะของพระอินทร์ บางตำนานก็ว่าช้างเอราวัณนั้นเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปที่ใด เทพบุตรเอราวัณจะแปลงกายเป็นช้างเผือกสีขาว ชื่อว่า เอราวัณ
ไตรภูมิพระร่วง ได้พูดถึงความใหญ่โตโอฬารของช้างเอราวัณไว้อย่างละเอียด คือช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่มาก ผิวกายสีขาว มีหัว 33 เศียรและแต่ละเศียรมีงา 7 งาและแต่ละอันยาวสี่ล้านวา และแต่ละงามีสระโบกขรณี 7สระ และแต่ละสระมีกอบัว 7 กอ และแต่ละกอมีดอกบัว 7 ดอก และแต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบและ แต่ละกลีบมาเทพธิดาฟ้อนรำ 7 องค์ และแต่ละองค์มีบริวารอีก 7 นาง รวมได้ว่า
ช้างเอราวัณ มีทั้งหมด 33 หัว และมีงาทั้งหมด 231 งาและ มีสระบัวทั้งหมด 1,617 สระ และมีกอบัวทั้งหมด 11,319 กอ และมีดอกบัวทังหมด 79,233 ดอก และมีกลีบบัวทั้งหมด 554,631 กลีบ และมีเทพธิดา ทั้งหมด3,882,417 องค์ และบริวารของเทพธิดาอีกทั้งหมด 27,176,919 นาง
หน้าที่ของช้างเอราวัณ คือ เป็นพาหนะที่พาพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งบนสวรรค์และมนุษย์โลก เพื่อดูแลทุกข์สุขของมวลมนุษย์ชาวโลก เป็นช้างศึกให้พระอินทร์ ออกไปทำการรบกับพวกอสูร ทำหน้าที่ดูแลโลกทางด้านตะวันออกควบคู่กับพระอินทร์
สถานที่จัดแสดงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ
ชั้นสุวรรณภูมิ
คือชั้นล่างสุดเป็นใต้ดินหรือบาดาล เรียกว่า “ชั้นสุวรรณภูมิ” จัดแสดงโบราณวัตถุเครื่องกระเบื้อง ในชั้นนี้ต้องการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสมัยโบราณเรียกว่า ดินแดนแห่งนี้ว่าสุวรรณภูมิที่แปลว่าดินแดนทองคำ โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงเพื่อสื่อความหมาย คือ ภาชนะดินเผา ที่เรียกว่า “เครื่องกระเบื้อง” เพราะการทำภาชนะดินเผานับเป็นนวัตกรรมในการผลิตเครื่องใช้สอยอันปรากฎหลักฐานว่ามีใช้กันมานับพันปีแล้วในดินแดนสุวรรณภูมิ ใช้ทั้งในชีวิตประจำวัน ในดินแดนสุวรรณภูมิ ประเภทภาชนะที่นำมาจัดแสดง อาทิ เครื่องสังคโลก เครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น
ชั้นโลกมนุษย์
คือชั้นที่สอง หรือ ชั้นกลางเป็นส่วนอาคารที่รองรับตัวช้างคือ “ชั้นโลกมนุษย์” เป็นบริเวณตัวอาคารทรงกลมที่รองรับน้ำหนักของตัวช้าง เล่าถึงเรื่องราวสะท้อนแก่นพระศาสนาที่ค้ำจุนโลกมนุษย์ให้เกิดศานติผ่านเสาเคาะดุนโลหะภายในอาคารเป็นภาพเรื่องราวอันแฝงด้วยคติธรรมทางศาสนาแสดงถึงความเชื่อของมนุษย์หลากหลายศาสนา ภายในอาคาร
ประดับตกแต่งตามส่วนต่างๆ ด้วยเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลวดลายปูนปั้นอวดฝีมือภูมิปัญญาแห่งช่างไทยได้อย่างสวยงาม ผสมผสานศิลปะของโลกตะวันตกอย่างกลมกลืนด้วยเพดานอาคารห้องโถงอันเปรียบเสมือนหลังคาโลก ตกแต่งเป็นรูปแผนที่โลกขนาดใหญ่บนงานกระจกสี เป็นชั้นที่แสดงถึงความงดงามของพิพิฑภัณฑ์และเป็นไฮไลท์ของที่นี่เป็นอย่างมาก
ชั้นจักรวาล
ชั้นสาม คือ ส่วนในตัวช้างเป็นส่วนที่อยู่เหนือโลกมนุษย์ขึ้นไปตามคติในไตรภูมิพระร่วง คือสรวงสวรรค์ หรือเรียกว่า “ชั้นจักรวาล” เป็นบริเวณภายในตัวอาคารรูปช้าง จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือ ซึ่งจัดแสดงในลักษณะของการประดิษฐานให้สมกับความที่เป็นสิ่งเคารพบูชาอันเป็นค่าควรเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ในตำแหน่งที่เหมาะสม สถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ,อุทยานแห่งชาติ,